ศุกร์. เม.ย. 19th, 2024



สำหรับคนที่วางแผนกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำบัตรเครดิต มักจะได้ยินคำว่า เครดิตบูโร ซึ่งหลายคนก็ไม่เข้าใจว่าคำนี้หมายถึงอะไร วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกัน

เครดิตบูโร หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2541 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นองค์กรกลางสำหรับเก็บบันทึกข้อมูลทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของคนแต่ละคน เปรียบเทียบง่ายๆก็คล้ายกับสมุดพกรายงานข้อมูลทางด้านการเงิน พฤติกรรมการใช้และการชำระสินเชื่อของแต่ละคนนั่นเอง

โดยข้อมูลส่งมาจากสถาบันการเงิน มีการจัดเก็บแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ข้อมูลบ่งชี้ ที่แสดงถึงตัวตนของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพ อาชีพ เลขบัตรประชาชน คือข้อมูลของเราที่แจ้งกับสถาบันการเงิน และ
2.ข้อมูลสินเชื่อ ข้อมูลการอนุมัติรวมทั้งประวัติการชำระ เช่น ทำบัตรเครดิตมากี่ใบ ขอสินเชื่อรถมากี่คัน ขอสินเชื่อบ้านมากี่หลัง วงเงินที่ได้รับ สถานะบัญชี รายละเอียดการชำระหนี้ว่ามีการค้างชำระหนี้หรือไม่

โดยข้อมูลจะเก็บไว้ในระบบได้ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่สมาชิกรายงานข้อมูลมายังเครดิตบูโร โดยที่จะมีข้อมูลใหม่เข้าไปแทนที่ข้อมูลเก่าเรื่อยๆ ส่วนการอัพเดดข้อมูลนั้น สถาบันการเงินจะรายงานประวัติการชำระของคุณเข้ามาที่บริษัทฯ ทุกๆ สิ้นเดือน พูดง่ายๆว่า เมื่อคุณจ่ายหนี้ที่ค้างหมดแล้ว ภายหลัง 1 เดือนสถานะบัญชีของคุณจะถูกเปลี่ยนเป็นปิดบัญชี และเครดิตบูโรจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้อีกไม่เกิน 3 ปี เมื่อครบ 3 ปี บัญชีบัตรเครดิตดังกล่าวก็จะถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร โดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ เครดิตบูโรจึงมีหน้าที่จัดเก็บรักษารวบรวมข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน ตามที่สถาบันการเงินจัดทำให้เท่านั้น มิได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำ หรือ แบล็คลิสต์ อย่างที่หลายๆคนเข้าใจกัน และเครดิตบูโรไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสิทธิอนุมัติหรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใครทั้งนั้น
ที่เรามักได้ยินว่า ติดเครดิตบูโร ถูกขึ้นบัญชีดำ นั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นแค่คำเรียกติดปากของคนที่มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี ค้างหนี้ ความจริงแล้วเครดิตบูโร จะแสดงว่าคนนี้มีหนี้สินอะไรอยู่บ้าง แล้วมีประวัติการชำระเงินเป็นอย่างไร ส่วนการพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งแต่ละแห่งก็มีดุลยพินิจที่แตกต่างกัน บางแห่งอาจไม่อนุมัติ บางแห่งอาจอนุมัติก็ได้

ทั้งนี้ในข้อมูลเครดิตจะมีตัวเลขบอกสถานะการชำระหนี้ เป็นตัวเลขต่างๆ เช่น

10 หมายถึง ชำระหนี้ตามปกติ จ่ายครบ จ่ายตรงตามเงื่อนไข ไม่มียอดค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน
11 หมายถึง ปิดบัญชีสินเชื่อแล้ว ไม่มีหนี้ค้าง
12 หมายถึง เคยชำระหนี้ แต่ได้พักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ
20 หมายถึง หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นสถานะที่ส่งผลเสียต่อลูกหนี้ในการขอสินเชื่อต่อไป
30 หมายถึง อยู่ในกระบวนการทางกฏหมาย
31 หมายถึง อยู่ในระหว่างชำระหนี้ตามคำพิพากษา ตามยอม
32 หมายถึง ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากขาดอายุความ
33 หมายถึง ปิดบัญชี เนื่องจากตัดเป็นหนี้สูญ
40 หมายถึง อยู่ระหว่างชำระสินเชื่อ เพื่อปิดบัญชี
41 หมายถึง เจ้าของข้อมูลขอตรวจสอบรายการ
42 หมายถึง โอนหรือขายหนี้
43 หมายถึง โอนขายหนี้ และชำระหนี้เสร็จสิ้น

สำหรับคนที่ประวัติเครดิตบูโรไม่ดี แต่อยากกู้เงิน อยากจะแก้ประวัติเครดิตบูโร จะทำอย่างไรได้บ้าง

1.ตรวจสอบเครดิตบูโรของตนเองก่อน

เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดความผิดพลาดในรายงานเครดิตบูโร และส่งผลต่อเครดิตของเจ้าของโดยที่ไม่รู้ตัว และเราไม่ได้ค้างชำระหนี้ แต่เป็นความผิดพลาดของสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันเหตุนี้ เราจึงควรยื่นเรื่องขอดูรายงานเครดิตบูโรอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและสิทธิประโยชน์ของตัวเราเอง

2.แก้เครดิตบูโรที่ผิดพลาด

หากเจอข้อผิดพลาดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องทำการยื่นเรื่องขอแก้เครดิตบูโรทันที โดยรวบรวมหลักฐานทางการเงิน ยื่นเรื่องแก้ไขกับทางเครดิตบูโร เป็นการยืนยันว่าข้อผิดพลาดนั้นๆไม่เป็นความจริง

3.วางแผนการชำระหนี้สิน

หากเราเป็นหนี้เยอะ จนทำให้ประวัติเครดิตบูโรไม่ดี สิ่งที่เราต้องทำคือหาทางชำระหนี้ ปรึกษาและหามาตรการช่วยเหลือจากธนาคาร เช่นการรีไฟแนนซ์ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้ประวัติทางการเงินของเราสวยงาม เพื่อที่สถาบันการเงินจะได้อนุมัติให้เราได้ง่ายขึ้น

สำหรับวิธีการตรวจเครดิตบูโรนั้นก็มีหลายช่องทาง ได้แก่

1.ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรในกทม. เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน ก็จะรับรายงานได้ภายใน 15 นาที ค่าบริการ 100 บาท
2.ยื่นเรื่องทางแอป TMB Touch ส่งทางอีเมล์ ค่าบริการ 150 บาท ภายใน 3 วันทำการ
3.ติดต่อเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรี, กรุงไทย, ธนชาต, ธอส, แลนด์แอนด์เฮาส์ หรือทำรายการผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วส่งทางไปรษณีย์ ค่าบริการ 150 บาท ภายใน 7 วันทำการ

ซึ่งตรวจสอบรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์เครดิตบูโร www.ncb.co.th และ facebook.com/ilovebureau

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุด คือการมีวินัยทางการเงิน ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และไม่สร้างหนี้ หรือชำระหนี้อย่างตรงเวลา เพื่อให้ข้อมูลเครคิตบูโรของเราใสสะอาด ไม่ติดแบล็คลิสต์อย่างที่เราเคยได้ยินกันนั่นเอง

————————————————–
ชี้ช่องทางธุรกิจ พลิกชีวิต รอดไปด้วยกัน! ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 18.30 น.
#รอดไปด้วยกัน #รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน #ทินโชคกมลกิจ
รายละเอียดเพิ่มเติม